Water

มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มีการมุ่งเน้นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยนั้น หน่วยระบบน้ำและเครื่องกล งานสาธารณูปโภคและระบบอาคาร กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ควบคุมดูแลระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบน้ำผิวดิน ระบบระบายน้ำฝน ระบบน้ำพุ ระบบดับเพลิง กังหันเติมอากาศ เครื่องกลเติมอากาศ และระบบเครื่องกล รวมถึงงานออกแบบปรับปรุงระบบประปาและสุขาภิบาล ระบบปรับอากาศ และระบบระบายอากาศ หน่วยระบบน้ำและเครื่องกลจึงได้สำรวจและดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของมหาวิทยาลัยให้มีการใช้น้ำประปาได้อย่างต่อเนื่องและลดการสูญเสียน้ำประปา ตลอดจนให้ก้าวทันสู่ยุคดิจิทัล เพื่อความเชื่อมโยงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
การบริหารจัดการน้ำใช้
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2523 มีการใช้น้ำบาดาลตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนถึงปี พ.ศ. 2552 ต่อมากรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีประกาศให้ยกเลิกการใช้น้ำบาดาล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการทรุดตัวสูง มหาวิทยาลัยจึงเริ่มใช้ระบบน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค โดยวางระบบท่อจ่ายน้ำประปาพร้อมบ่อวาล์วควบคุมการเปิด-ปิด จำนวน 15 บ่อ แบ่งควบคุมโซนพื้นที่ได้ 14 โซน สำหรับกรณีซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบประปา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2560 พบว่าในการซ่อมแซมท่อประปาในแต่ละครั้งมีความจำเป็นต้องปิดประตูน้ำในบ่อวาล์วตามโซนพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานจำนวนมากไม่ได้รับการจ่ายน้ำประปาเป็นวงกว้าง เนื่องจากบ่อวาล์วที่ควบคุมการเปิด-ปิดน้ำประปาเดิม มีการควบคุมโซนอาคารที่กว้างมากเกินไป ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีการก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบท่อจ่ายน้ำประปาให้เป็นระบบ Ring Loop ที่มีการวางท่อประปา และบ่อวาล์วควบคุมโซนการเปิด-ปิดน้ำประปาเพิ่มเติมจำนวน 7 บ่อ รวมเป็นจำนวน 22 บ่อ แบ่งควบคุมโซนพื้นที่ได้ 19 โซน เพื่อเพิ่ม Ring Loop ประปา ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการน้ำประปา และลดโซนพื้นที่อาคารที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ได้รับน้ำประปาเมื่อเกิดกรณีปิดซ่อมแซมท่อประปา และเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เกิดเหตุการณ์ท่อเมนหลักประปารั่วไหลส่งผลให้พื้นที่ทั้งมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการจ่ายน้ำประปาเป็นระยะเวลา 36 ชั่วโมง
water
ด้วยระบบท่อเมนรับน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งเป็นท่อชนิดซีเมนต์ใยหินที่ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2543 ขนาด 300 มิลลิเมตร ความยาว 500 เมตร ช่วงบริเวณด้านหน้าสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลถึงสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ซึ่งแตกรั่วช่วงหน้าทางเข้าอาคารวัคซีน ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำประปาปริมาณมาก และไม่สามารถจ่ายน้ำประปาเข้าสู่ท่อเมนรับน้ำประปาเพื่อจ่ายให้ทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยได้ จึงส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อนักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางท่อเมนรับน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค ชนิด HDPE ขนาด 315 มิลลิเมตร พร้อมบ่อพักและอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิด เพื่อเชื่อมต่อไปยังท่อเมนจ่ายน้ำประปา ขนาด 315 มิลลิเมตร ของมหาวิทยาลัย สำหรับสำรองเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำประปาแตกรั่วไหลที่ท่อเมนรับน้ำประปาเดิม (ซีเมนต์ใยหิน) โดยจะสามารถควบคุมการจ่ายน้ำประปาผ่านท่อสำรองได้ทันที และไม่มีผลกระทบต่อการใช้น้ำประปาภายในมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2562–2563 จึงได้จัดทำโครงการวางท่อเมนรับน้ำประปา ขนาด 315 มิลลิเมตร เพื่อสำรองท่อเมนรับน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค และให้จ่ายน้ำประปาได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีผลกระทบต่อทุกกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย และการจ่ายน้ำประปาให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องมีการติดตั้งมาตรวัดน้ำ ซึ่งมาตรฐานการประปามาตรวัดน้ำที่มีอายุเกิน 8 ปี จะมีค่าความคลาดเคลื่อนสูง ในปี พ.ศ. 2564 มาตรน้ำใช้งานมานานกว่า 12 ปีเกิดสนิมผุกร่อนตามอายุการใช้งาน และมีสิ่งปนเปื้อนในน้ำประปา ทำให้อุปกรณ์ภายในมาตรน้ำเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว จึงทำให้วัดค่าปริมาณการใช้น้ำไม่เที่ยงตรง งานสาธารณูปโภคและระบบอาคาร กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจึงมีการจัดทำโครงการงานติดตั้งมาตรวัดน้ำประปาดิจิตอล ระยะที่ 1 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นการยกระดับมาตรฐานมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่ยุคดิจิตอล ตลอดจนเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาและบุคลากร
โดยได้ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำประปาดิจิตอลให้แก่ส่วนงานในมหาวิทยาลัย จำนวน 24 ส่วนงาน ได้แก่
1) หอพักนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา
2) หอประชุมสิทธาคาร กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม
3) วิทยาศาสตร์การกีฬาและสระว่ายน้ำ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
4) อาคารเรียนวิทยาลัยนานาชาติ
5) คณะกาพภาพบำบัด
6) อาคารชุดพักอาศัย ศูนย์บริหารสินทรัพย์
7) คอนโด D ศูนย์บริหารสินทรัพย์
8) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย
9) สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน
10) สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
11) คณะเทคนิคการแพทย์
12) คณะวิทยาศาสตร์ 3
13) คณะสัตว์แพทย์ศาสตร์
14) ศูนย์การเรียนรู้มหิดล
15) อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์
16) วิศวกรรมศาสตร์
17) สถาบันโภชนาการ
18) อาคารอเนกประสงค์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
19) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล
20) อาคารวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล
21) อาคารอเนกประสงค์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
22) อาคารเรียนรวมบัณฑิตวิทยาลัย
23) อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
24) อาคารศาลายา กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม
โดยสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลการใช้ปริมาณน้ำผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ข้อมูลปริมาณน้ำที่ได้รับมีความเที่ยงตรง และสามารถแจ้งเตือนหากมีการใช้ปริมาณน้ำที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้ประโยชน์เพื่อการจัดการดูแลบริหารการใช้น้ำอย่างยั่งยืนต่อไป
water
water
การบริหารจัดการน้ำผิวดิน
การใช้น้ำประปาในชีวิตประจำวันของบุคลากร และนักศึกษา ก่อให้เกิดน้ำเสีย โดยน้ำเสียจะถูกรวบรวมไปบำบัดและปล่อยน้ำที่ผ่านมาตรฐานลงสู่คูคลอง โดยงานสาธารณูปโภคและระบบอาคารมีการตรวจวัดน้ำผิวดินเป็นประจำทุกเดือน โดยวัดค่าออกซิเจนละลายน้ำ และค่าความเป็นกรด – ด่าง หากตรวจพบค่าเกินมาตรฐาน งานสาธารณูปโภคและระบบอาคารจะมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำผิวดินให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเสมอ
water
ระบบระบายน้ำ
มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินโครงการจ้างลอกท่อระบบระบายน้ำฝนเป็นประจำทุก 2 ปี โดยดำเนินการลอกท่อตามรางดิน รางปูน ท่อระบายน้ำใต้ดิน และบ่อตะแกรงรับน้ำจากถนน เพื่อรองรับน้ำฝน และน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว โดยระบายออกจากพื้นที่สู่ภายนอกไม่ให้เกิดการท่วมขังของน้ำภายในมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ยังมีสถานีสูบระบายน้ำฝน 3 สถานี ได้แก่ อาคารชลศาสตร์ 1 (ทิศเหนือ) อาคารวิศวกรรมศาสตร์ และอาคารชลศาสตร์ 2 (ทิศใต้) โดยในปี พ.ศ. 2564 ได้พัฒนาระบบสูบน้ำฝนเป็นระบบ Mahidol Monitoring System (MMS) เพื่อนำเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการติดตามข้อมูลวัดระดับน้ำภายในคลอง เพื่อป้องกันสถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ข้อมูลจากการตรวจวัดสามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้เพื่อคาดการณ์ด้านน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการ และการตัดสินใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดข้อมูลทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อพัฒนาคุณภาพที่ดีและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยมหิดลจึงดำเนินโครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำ และควบคุมสถานีสูบระบายน้ำฝน รับ-ส่งข้อมูลระยะไกล
water
ระบบบำบัดน้ำเสีย
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งมีจำนวนบุคลากร และนักศึกษา จำนวนน้อย จึงใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่ง ภายหลังบุคลากร และนักศึกษา เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และประกอบด้วยอาคารมากกว่า 80 อาคาร ได้แก่ อาคารเรียน หอพักนักศึกษา คอนโด โรงอาหาร มีบุคลากร และนักศึกษา มากกว่า 30,000 คน ทำให้ระบบบ่อผึ่งไม่สามารถรองรับน้ำเสียได้ จึงก่อให้เกิดน้ำเสียเป็นจำนวนมาก และน้ำเสียปนเปื้อนไหลลงแหล่งน้ำผิวดิน จึงมีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Activated Sludge ขึ้นมาในปี พ.ศ.2555 โดยสามารถรองรับน้ำเสียได้ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวบรวมน้ำเสียจาก 17 หน่วยงาน ได้แก่ 1) วิทยาลัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีการกีฬา 2) หอพักนักศึกษากองกิจการนักศึกษา 3) ศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ 5) วิทยาลัยนานาชาติ 6) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 7) คณะวิทยาศาสตร์ 8) บัณฑิตวิทยาลัย 9) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 10) หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล 11) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ 12) สถาบันโภชนาการ 13) สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน 14) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย 15) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ 16) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และ 17) อาคารนวัตกรรมชีวภัณฑ์มหิดล และหน่วยงานที่เหลือจะมีระบบบำบัดน้ำเสียของตนเองเนื่องจากเป็นอาคารก่อสร้างใหม่ กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจะมีการตรวจสอบติดตามคุณภาพน้ำผิวดินเป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลมีทัศนียภาพที่สวยงาม และเพื่อสุขภาวะของบุคลากร และนักศึกษาที่ดี จึงมีการจัดการน้ำเสียอย่างถูกต้องตามกฎหมายกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยบุคลากร และนักศึกษาที่ต้องการติดตามผลคุณภาพน้ำสามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้ที่ https://op.mahidol.ac.th/pe/2018/3155/
โดยระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Activated Sludge จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ถังเติมอากาศ (Aeration Tank) และถังตกตะกอน (Sedimentation Tank) โดยน้ำเสียจะถูกส่งเข้าบ่อเติมอากาศ ซึ่งมีจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมาก จุลินทรีย์เหล่านี้จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียให้อยู่ในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ส่วนน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลต่อไปยังถังตกตะกอนเพื่อแยกสลัดจ์ออกจากน้ำใส สลัดจ์ที่แยกตัวอยู่ที่ก้นบ่อตกตะกอนส่วนหนึ่งจะถูกสูบกลับเข้าไปในถังเติมอากาศใหม่เพื่อรักษาความเข้มข้นของจุลินทรีย์ในบ่อเติมอากาศให้ได้ตามที่กำหนด และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นสลัดจ์ส่วนเกิน (Excess Sludge) โดยนำไปทำปุ๋ยต่อไป สำหรับน้ำใสส่วนบนจะเป็นน้ำทิ้งถูกส่งต่อไปบ่อสัมผัสคลอรีน โดยจะใช้ไบโอคลอรีนที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วปล่อยลงคูคลองภายในมหาวิทยาลัยและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
water
water
water
ระบบน้ำรีไซเคิล
ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Activated Sludge ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยสามารถผลิตน้ำรีไซเคิลได้วันละประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร และในปี พ.ศ. 2562 มีโครงการวางท่อระบบจ่ายน้ำรีไซเคิล โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดเติม
ไบโอคลอรีนแล้วจ่ายน้ำให้หน่วยงาน ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสีย ลานจอดรถบัส คณะสัตวแพทยศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ โดยนำน้ำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างเครื่องจักรอุปกรณ์ ล้างพื้นคอกม้า ล้างกรงสัตว์ และล้างรถบัส
ตลอดระยะเวลา 3 ปี การใช้น้ำรีไซเคิลส่งผลให้มหาวิทยาลัยประหยัดการใช้น้ำประปา 33,594 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 707,124 บาท โดยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการผลิตน้ำประปาจำนวน 9,550.77 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 6 การสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ ผ่านการลดของเสียโดยกระบวนการ Reuse และ Recycle
water
ตู้น้ำดื่ม
โครงการติดตั้งตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ บริเวณพื้นที่ส่วนกลาง มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นการดำเนินโครงการที่ส่งเสริมให้บุคลากร นักศึกษา มีความตระหนักและเห็นคุณค่าในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการลดการใช้ภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยพกแก้วหรือกระบอกน้ำแทน ตลอดจนเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมและสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรนำแก้วส่วนตัวมากดน้ำดื่มจากตู้กดน้ำระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะขวดพลาสติกจากการซื้อน้ำบริโภค และช่วยลดการสัมผัสของผู้ใช้งานทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อ อีกทั้งยังช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรได้ดื่มน้ำดื่มที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย
water
โดยตู้กดน้ำดังกล่าวจะใช้ระบบ UF+UV ที่สามารถกรองแบคทีเรียและจุลินทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์ และยังคงรักษาแร่ธาตุต่าง ๆ ไว้ ซึ่งไส้กรองน้ำได้รับรองมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มจากสถาบัน NSF (National Sanitary Foundation) โดยได้ติดตั้งใน 4 จุด จำนวน 8 ตู้ รอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้แก่
1. อาคารสิริวิทยา จำนวน 1 ตู้
- บริเวณหน้าห้องน้ำ ชั้น 1
2. อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล จำนวน 4 ตู้
- บริเวณลานดอกกันภัย ชั้น 1
- บริเวณตู้น้ำดับเพลิงศูนย์อาหาร ชั้น 1
- บริเวณทางขึ้นชั้นลอยศูนย์อาหาร
- บริเวณศูนย์อาหาร ชั้น 2
3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ จำนวน 1 ตู้
- บริเวณทางเข้าอาคารใบไม้ 3 ใบ
4. อาคารสำนักงานอธิการบดี จำนวน 2 ตู้
- บริเวณทิศเหนือ ชั้น 1
- บริเวณทิศใต้ ชั้น 1
  • water
  • water
  • water
water
water
water