โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสําคัญทั่วโลก การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันทําได้โดยการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดําภายใน 4.5 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการใส่สายสวนเพื่อทําการเปิดหลอดเลือด ปัจจัยที่สําคัญที่สุดในการรักษา คือ ยิ่งรักษาเร็วยิ่งได้ผลดี แต่ในประเทศไทยการรักษานี้ยังมีข้อจํากัดอยู่ มากในด้านของผู้เชี่ยวชาญในการทําหัตถการ ทีมสนับสนุนและอุปกรณ์ที่มีราคาแพง จึงสามารถทําได้เพียงโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์บางแห่งหรือโรงพยาบาลเอกชน ขนาดใหญ่เท่านั้น
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเป็นการทำงานแข่งกับเวลาที่คร่าชีวิตคนไทยและชาวโลกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังทำให้พิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้ความพิการและการเสียชีวิตลดลง อยู่ที่ ‘มาตรฐานเวลา’ ภายใน 270 นาที หากพบอาการเร็วและได้รับการวินิจฉัยเร็ว โอกาสที่จะหายก็มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยี Mobile Stroke Unit ให้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพแก่บุคลากรการแพทย์
ในการนี้ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทําโครงการโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสําหรับทุกคน (Mobile Stroke Unit, TeleConsultation and Patient Transfer; A One-Stop Service for All) หรือเรียกสั้นๆ ว่า MSU-SOS (Mobile Stroke Unit, Stroke One Stop) ขึ้น โดยปัจจุบันมีรถ Mobile Stroke Unit 6 คัน ซึ่งรถต้นแบบนี้จะมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ โดยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล และ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จํากัด
MSU-SOS ถือเป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาระบบปรึกษาทางไกล เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันโดยใช้รถโมบาย สโตรคยูนิตให้มี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยนําเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ติดตั้งไว้บนรถ ซึ่งสามารถสแกนสมองผู้ป่วยร่วมกับใช้ระบบปรึกษาทางไกลผ่านโครงข่ายไร้สายความเร็วสูง 4G/5G เพื่อสื่อสารกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจให้ยาสลายลิ่มเลือดบนรถได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถฉีดสารทึบแสงบนรถในการประเมินหลอดเลือดสมอง เพื่อลด ระยะเวลาและให้การวินิจฉัยที่แม่นยํา รวมถึงลดขั้นตอนการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลให้สั้นลง ส่งผลให้ลดอัตราความพิการและการเสียชีวิต ลดความสูญเสียต่อตัว ผู้ป่วย ครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายของกองทุนสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยที่พิการระยะยาวได้
MSU-SOS เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ถึงปัจจุบันให้บริการผู้ป่วยไปแล้วจํานวน 1,070 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565) พบว่า สามารถลดระยะเวลาเข้าถึงการรักษาได้อย่างชัดเจน ลดอัตราความพิการลงได้ นอกจากนี้ ยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการรักษาเร่งด่วน โดยสามารถให้บริการกับผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาเพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันได้เปิดให้บริการในพื้นที่ต่างๆ โดยมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆดังนี้
- พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินการโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- พื้นที่จังหวัดชลบุรี ร่วมกับ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาและโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดชลบุรี (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคตะวันออก)
- พื้นที่จังหวัดราชบุรี ร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จยุพราชจอมบึง โรงพยาบาลโพธาราม และโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดราชบุรี (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคตะวันตก)
- พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลสงขลานครินทน์ (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคใต้)
- พื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ และ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคเหนือ)
- พื้นที่จังหวัดนครพนม ร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม และโรงพยาบาลนครพนม (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

โดยมีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้คำแนะนำในการใช้งาน
โดยในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ได้เปิดตัวนวัตกรรม “รถรักษาโรคหลอดเลือดสมอง รุ่น MSU-SOS 2023” ให้บริการได้ตั้งแต่ “สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบที่เดียว” สร้างสถิติเวลาในการรักษาผู้ป่วยแข่งกับมฤตยู จากประตูรถถึงเข็มฉีดยา (Door to Needle) เร็วที่สุดภายใน 15 นาที นับเป็นคันแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นคันที่ 2 ของโลก โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตก-ตันเฉียบพลัน (Stroke) จำนวนกว่า 13.7 ล้านคน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 328 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 10 และพิการถึงร้อยละ 60 ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากขึ้น
ความโดดเด่นของเทคโนโลยีอันก้าวหน้าและ Telemedicine ของ MSU-SOS 2023 เป็นผลผลิตจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- การออกแบบโครงสร้างตัวรถใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สามารถรองรับ 16-Slice CT Scanner ที่ได้รับการจดทะเบียนรับรองให้ติดตั้งในรถ
- การออกแบบทางวิศวกรรมความปลอดภัยสูงสุดจากการชนและอุบัติเหตุทางถนน
- การออกแบบระบบไฟฟ้าใหม่เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ไม่ต่ำกว่า 3 ชม. โดยปราศจากเครื่องยนต์และแหล่งพลังงานภายนอก
- วางระบบสื่อสารใหม่รองรับการสื่อสารแบบ 5G Multiple Bands ทำ QoS ช่องสัญญาณแบบ Real-Time นำ Edge Computing มาประมวลผลข้อมูลก่อนนำสู่ Cloud เพื่อทำ AI ภาพหลอดเลือดสมองร่วมกับฐานข้อมูลผู้ป่วย
- การออกแบบระบบเพื่อลดภาระงานในสภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้กระบวนการรักษาดูแลผู้ป่วยแบบ Door-to-needle ใช้เวลาน้อยกว่า 15 นาทีตามเป้าหมาย
และจดทะเบียนภายใต้แบรนด์ “MSU-SOS” นับเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่สร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติให้ปลอดภัยจากการเสียชีวิตและพิการจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ช่วยยกระดับให้ไทยเป็นประเทศที่สุขภาพดี Healthy Thailand และก้าวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น
โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) (02-8496050)
สำหรับบทบาทของโรงพยาบาลศิริราช ในการเป็น หน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับที่ปรึกษาโรคหลอดเลือดสมอง ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปฏิบัติงานอำนวยการที่ปรึกษาให้กับหน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับเฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมองทั่วประเทศ
ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการประชาชนอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่
- กรุงเทพและปริมณฑล รพ.ศิริราช
- ภาคตะวันตก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี
- ภาคใต้ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี
- ภาคเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม
จะเห็นได้ว่าภายในปี 2565 สามารถสร้างต้นแบบการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบเบ็ดเสร็จ (Mobile Stroke Unit-Stroke One Stop) ให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ ซึ่งจะสามารถแก้ใขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือ และปัญหาความล่าช้าของการส่งต่อผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ห่างไกล ซึ่งปฏิบัติการทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมกันทำให้เกิดบริการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีในระดับโลก และถือเป็นต้นแบบของการบริการในภาวะฉุกเฉินด้านอื่น ๆ ต่อไป
ในอนาคต
- เพิ่มพื้นที่ให้บริการที่ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และจังหวัดน่าน
- การออกแบบและสร้าง MSU ทางเรือ (Si-CAT MSU-1) การตรวจเอกซเรย์สมองคอมพิวเตอร์สมองบนเรือรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ มีกำหนดทดสอบในแม่น้ำเจ้าพระยา
หากท่านหรือคนในครอบครัวมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ขอให้ท่านตั้ง ‘สติ’ รีบโทรแจ้ง ‘1669’ ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่จะทำให้ท่านได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว