ด้านนโยบาย (Policy)
การจัดการของเสียที่เป็นอันตราย สอดคล้องกับนโยบายภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัย ประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายการจัดการของเสียอันตราย พ.ศ. 2563 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- ผู้บริหารส่วนงานต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการของเสียของส่วนงาน และดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย
- ส่วนงานจะต้องส่งเสริมการใช้ของเสียอันตรายในการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม คุ้มค่าและปลอดภัย พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะลดการผลิตของเสียอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม
- ทุกส่วนงานที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของเสียอันตราย จะต้องมีมาตรการในการดำเนินการคัดแยกประเภทของเสีย
- ส่วนงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับของเสียอันตรายต้องมีคณะทำงาน หรือผู้รับผิดชอบการจัดการของเสียอันตราย เพื่อกำกับดูแล ติดตามการประเมินผลการจัดการของเสียอันตรายของส่วนงานตามนโยบายที่มหาวิทยาลัยกำหนด
- ให้ส่วนงานที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับของเสียอันตราย จะต้องมีการบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลาง และจัดทำรายงานเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อทราบทุกปีงบประมาณด้วย
- มหาวิทยาลัยกำหนดให้ส่วนงานนำผลเกี่ยวกับการจัดการของเสียอันตรายเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนงานด้วย
ซึ่งทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัยต้องมีคณะทำงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการของเสียอันตราย มีการบันทึกและระบบการจัดการของเสียอันตราย และมีการทำเป็นข้อตกลง (Performance Agreement) กับทุกส่วนงานในแต่ละปี และมีการกำหนดเป็นประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2564 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- มหาวิทยาลัยตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของบุคลากร นักศึกษา ตลอดจนบุคคลภายนอกในการทำงาน ทั้งในส่วนของการวางแผน การดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยสนับสนุนการออกข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ และแนวปฏิบัติต้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรการทางกฎหมาย
- มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้บุคลากร นักศึกษา ตลอดจนบุคคลภายนอกทุกคนปฏิบัติตามข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และมีระบบการจัดการของเสียอันตรายที่มีประสิทธิภาพ
- มหาวิทยาลัยสนับสนุนการเสริมสร้างจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ถูกต้องให้แก่บุคลากรและนักศึกษา
- มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้มีระบบการประเมิน การจัดการ และการควบคุมความเสี่ยงในการทำงานทุกระดับอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
- มหาวิทยาลัยจะเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีให้กับบุคลากร นักศึกษา ตลอดจนบุคคลภายนอก
- มหาวิทยาลัยส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชนข้างเคียง เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- มหาวิทยาลัยกำหนดให้ความปลอดภัยในการทำงานถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันของบุคลากร นักศึกษา และบุคคลภายนอกทุกคนในมหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยสนับสนุนการฝึกอบรมและการจูงใจบุคลากร นักศึกษา และบุคคลภายนอกโดยเฉพาะผู้รับจ้าง ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
- มหาวิทยาลัยกำหนดให้บุคลากรและนักศึกษาที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี สารกัมมันตรังสี วัตถุชีวภาพ และความเสี่ยงอื่น ๆ จะต้องผ่านการฝึกอบรมตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากส่วนงานต้นสังกัด
- มหาวิทยาลัยกำหนดให้นำผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงาน
- ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารส่วนงาน และหัวหน้าหน่วยงาน ต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีและควบคุมให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ และแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชนข้างเคียงเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- ส่วนงานต้องปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ
- ส่วนงานต้องจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับส่วนงาน เพื่อกำกับดูแลงานด้านความปลอดภัยภายในส่วนงานตามนโยบายที่มหาวิทยาลัยกำหนด
- ส่วนงานต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ และแนวปฏิบัติต้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามแนวทางของมหาวิทยาลัย
- บุคลากร นักศึกษา และบุคคลภายนอก ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น ตลอดจนทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ
- บุคลากร นักศึกษา และบุคคลภายนอกทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานรวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวข้อง
- บุคลากรและนักศึกษาทุกคนมีหน้าที่ให้ความร่วมมือในโครงการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
- บุคลากรและนักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสภาพการทำงานและวิธีการทำงานให้ปลอดภัย
นโยบายและแนวปฏิบัติต้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของส่วนงานให้เป็นไปตามที่หัวหน้าส่วนงานกำหนโดยจัดทำเป็นประกาศส่วนงาน และให้คำนึงถึงความเหมาะสม ความสอดคล้องกับประกาศนี้ และภารกิจของส่วนงานเป็นสำคัญ
ด้านการดำเนินการ (Operations)
จากนโยบายดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดลงสู่ศูนย์บริหารความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วม “โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (ESPReL)” ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยเกิดความตระหนักเรื่องความปลอดภัย การสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการของเสียที่เป็นอันตรายในห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทุกระดับที่เอื้อให้เกิดการพัฒนางานด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มหาวิทยาลัยมหิดล ในการกำหนดนโยบายและกำกับติดตาม รวมทั้งมีการมีคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าผู้ตรวจประเมินและผู้ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ESPReL และมีการตั้งคณะกรรมการในแต่ละส่วนงาน รวมทั้งมีการกำหนดเป็น Performance Agreement กับทุกหัวหน้าส่วนงาน มีการกำหนด Checklist ในการประเมินและจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเสียที่เป็นอันตราย มีการกำกับติดตาม ส่งผลให้ห้องปฏิบัติการที่ใช้สารเคมีของมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถผ่านการประเมินเพิ่มขึ้นทุกปี
.jpg)
ด้านการเรียนรู้ (Learning)
จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 4.3 ส่งผลให้มีการนำนโยบายสู่แนวทางปฏิบัติ โดยมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับผู้เกี่ยวข้อง โดยจำแนกลงแต่ละด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางปฏิบัติในการจัดการของเสียที่เป็นอันตราย และหลักสูตรผู้ตรวจประเมิน ทั้งนี้มีการอบรมอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีจำนวนห้องปฏิบัติการที่ใช้สารเคมีผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นทุกปี
ความร่วมมือ (Collaboration)
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมผลักดันนโยบายด้านการจัดการความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในระดับประเทศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (ESPReL) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยเกิดความตระหนักเรื่องความปลอดภัย การสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ การจัดการของเสียที่เป็นอันตรายในห้องปฏิบัติการอย่างถูกสุขลักษณะ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทุกระดับที่เอื้อให้เกิดการพัฒนางานด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการวิจัยอย่างต่อเนื่อง