การวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล : การประยุกต์สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่

detail

การวิจัย MSP จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และเอื้อให้เกิดการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในทะเลไทยให้มีความสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว 

โครงการวิจัยเรื่อง “การวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล : การประยุกต์สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่” ได้รับงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้แพลตฟอร์มที่สอง (การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม) โปรแกรมที่ 7 แก้ไขปัญหาท้าทายและยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเกษตร แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ซึ่งได้รับงบประมาณวิจัยในปีแรก  (งบประมาณ 2565, วงเงิน 1,090,000 บาท)  ทั้งนี้โครงการกำหนดกรอบการวิจัยไว้ห้าปี  (ปี 2565-2569) แบ่งออกเป็นสามระยะ  รายละเอียดดังนี้ 

1) ระยะแรก (ปีงบ 2565) เริ่มจากการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning: MSP) ทั้งในระดับสากลและของประเทศไทยจากฐานข้อมูลระดับนานาชาติ (Scopus database) และจากรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องที่มีการดำเนินการในประเทศไทย  จัดให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาควิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาซึ่งข้อเสนอแนะและแนวทางการขับเคลื่อนการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล  ซึ่งผู้วิจัยคาดการณ์ว่าข้อเสนอแนะส่วนหนึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินการวางแผนการใช้ประโยชน์ในทะเลในระดับพื้นที่ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่นำร่อง  และข้อเสนอแนะอีกส่วนหนึ่งจะบอกทิศทางการวิจัยและการสร้างศักยภาพการฝึกอบรมให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง    

2) ระยะที่สอง (ปี 2566-2567) กรอบการวิจัยเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการดำเนินการวางแผนการใช้ประโยชน์ในทะเลในระดับพื้นที่ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่นำร่อง จะดำเนินการโดยรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิเกี่ยวกับสถานภาพของทรัพยากรทางทะเลและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ในทะเลในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อนำไปพัฒนาแผนที่แสดงความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล สถานภาพทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ในทะเล และจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลระดับชาติ  จากนั้นประยุกต์กระบวนการจำแนกการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลระดับชาติสู่การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลในพื้นที่นำร่องทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันอย่างละหนึ่งพื้นที่  รวมถึงการวิเคราะห์ความสอดคล้องของเขตการใช้ประโยชน์ของพื้นที่นำร่องกับประเภทการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลระดับชาติ โดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูล และแสดงความคิดเห็นต่อประเภทของการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลที่จัดทำขึ้น  

3) ระยะที่สาม (ปี 2568-2569) เป็นกรอบการวิจัยที่สนับสนุนให้มีการขยายผลการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลในจังหวัดชายฝั่งอื่นๆ (ที่มีความพร้อม) จัดฝึกอบรมสร้างศักยภาพให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือการวางแผนการการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลได้  รวมถึงเสนอแนะกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์

 

Partners/Stakeholders
  • คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (อจชล.) เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ผ่านคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.)
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เช่น สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด  คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด  คณะกรรมการประมงจังหวัด และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลระดับจังหวัด
ผู้ดำเนินการหลัก
ศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
1. อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง และ 2. Dr.Zhiwei Zhang